โรคสะเก็ดเงิน เรื้อนกวางและอาการสะเก็ดเงิน

โรคสะเก็ดเงินหรือโรคเรื้อนกวาง (Psoriasis) คือ โรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย อาการจะเกิดเมื่อภูมิคุ้มกันร่างกายเข้าใจผิดว่าเซลล์ผิวหนังเป็นสิ่งแปลกปลอมหรือเชื้อโรค ส่งผลให้ผิวหนังมีการลอกตัวหรือผลัดตัวเร็วกว่าปกติ 10 เท่า สะเก็ดเงินไม่ใช่โรคติดต่อ อย่างไรก็ตามสะเก็ดเงินมีความเชื่อมโยงกับการเพิ่มความเสี่ยงของการป่วยเป็นอัมพฤกษ์ ซึ่งมักเกิดกับผู้ที่มีระดับไขมันในเลือดสูงได้ สะเก็ดเงินมีอยู่หลายประเภท ที่พบได้มากทีสุดจะเป็นประเภท plaque ที่มีลักษณะเป็นผื่นสีแดงและมีสะเก็ดสีขาวเงินปกคลุมอยู่ การแสดงอาการสะเก็ดเงินอาจจะไม่ได้เกิดกับคนไข้ทุกคน เพราะบางคนแม้จะเป็นสะเก็ดเงิน แต่ดูแลสุขภาพและควบคุมสะเก็ดเงินได้ดี ก็อาจจะไม่ปรากฏอาการดังกล่าวเลยก็ได้

ที่มาของคำว่า “สะเก็ดเงิน (Psoriasis)” ในภาษาอังกฤษ มาจากภาษากรีกโบราณ มีความหมายโดยรวมว่า “อาการคัน” (psoria = คัน, sis = สภาพหรืออาการ) สะเก็ดเงินโดยทั่วไปจะมีลักษณะเป็นสีเงิน และมักจะเกิดตามผิวหนังบริเวณข้อศอก ข้อเข่า หนังศีรษะ ฝ่ามือ ฝ่าเท้าหรือแม้กระทั่งผิวหนังในที่ลับ

สะเก็ดเงินเป็นโรคที่เป็นๆหายๆเรื้อรัง รักษาไม่หายขาด มีผู้ป่วยหรือคนไข้ที่มีอาการเพียงเล็กน้อย คือ เป็นผื่นแดงและสะเก็ดสีเงินที่บางส่วนของผิวหนังจนถึงคนที่เป็นไปทั่วทั้งผิวหนังทั่วร่างกาย และมักจะมีอาการที่เล็บมือ เล็บเท้า ซึ่งเป็นอาการที่เกิดขึ้นต่างหาก คนไข้จำนวน 10% – 30% อาจจะมีอาการอักเสบของไขข้อในร่างกายร่วมด้วย

สาเหตุที่แท้จริงของการเป็นสะเก็ดเงินยังไม่ปรากฏแน่ชัด แต่มีข้อสันนิษฐานว่าเกิดจากยีนในร่างกายบางตัวถูกกระตุ้นด้วยปัจจัยบางอย่าง จนทำให้มีอาการสะเก็ดเงินแสดงออกมาได้ เช่น ความเครียด การหยุดยาทารักษาสะเก็ดเงิน และอื่นๆ แต่ข้อมูลทางสถิติในส่วนนี้ก็ยังไม่สามารถสรุปผลได้อย่างชัดเจนว่าปัจจัยกระตุ้นดังกล่าวเป็นปัจจัยกระตุ้นของการเกิดสะเก็ดเงินได้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สาเหตุสะเก็ดเงิน

อาการสะเก็ดเงินประเภทต่างๆ

สะเก็ดเงินเป็นโรคเรื้อรังที่ถูกแบ่งประเภทได้เป็นดังนี้

1. สะเก็ดเงินทั่วไป (Plaque psoriasis)

plaue-psoriasis

เป็นสะเก็ดเงินประเภทที่เกิดขึ้นบริเวณเดิมซ้ำๆแบบเรื้อรัง มีลักษณะเป็นผื่นอักเสบที่ปกคลุมด้วยสะเก็ดสีเงิน (ลักษณะดังกล่าวฝรั่งเค้าเรียกว่า plaque) และเกิดขึ้นกับผู้ป่วยสะเก็ดเงินมากที่สุด มากถึง 80% – 90% ของผู้ป่วยสะเก็ดเงินทั้งหมด

2. สะเก็ดเงินรุนแรง (Erythrodermic psoriasis)

Erythrodermic-psoriasis

ลักษณะจะเป็นผิวหนังอักเสบและลอกตัวทั่วร่างกาย และอาจจะมีอาการบวม คัน และเจ็บแสบอย่างรุนแรงร่วมด้วย บ่อยครั้งที่สะเก็ดเงินแบบนี้เกิดจากกำเริบของสะเก็ดเงินทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหยุดรักษาสะเก็ดเงินด้วยยาแบบองค์รวม (มียาหลายตัว เช่น ยาทา ยากิน ยาฉีด) แบบทันทีทันใด รูปแบบของสะเก็ดเงินชนิดนี้อาจรุนแรงถึงขั้นทำให้ผิวหนังเสียหายมาก จนกระทั่งไม่สามารถป้องกันความร้อนความเย็น และควบคุมอุณหภูมิได้เหมือนปกติได้

3. ประเภทมีตุ่มหนอง (Pustular psoriasis)

Pustular- psoriasis

ลักษณะเป็นตุ่มนูน ไม่แข็ง มีน้ำหนองอยู่ข้างใน ผิวหนังบริเวณรอบๆตุ่มหนองจะเป็นสีแดง เกิดขึ้นได้กับผิวหนังบริเวณอวัยวะบางส่วน เช่น มือ เท้า หรืออาจจะเกิดขึ้นกับผิวหนังบริเวณอวัยวะหลายๆส่วนกระจายไปทั่วร่างกายก็ได้ จากภาพให้สังเกตบริเวณฝ่ามือ จะเห็นเป็นตุ่มใสอยู่เป็นจำนวนมาก

4. สะเก็ดเงินหยดน้ำตาเทียน (Guttate psoriasis)

Guttate_psoriasis

ลักษณะจะเป็นแผลสีแดงหรือสีชมพูจำนวนมากกระจายตามผิวหนัง รูปร่างคล้ายหยดน้ำตาเทียน แผลรูปหยดน้ำตาเทียนจำนวนมากนี้มักจะเกิดขึ้นเป็นบริเวณกว้างโดยเฉพาะตามตัวหรือาจจะเกิดตามแขนขาหรือหนังศีรษะก็ได้ สะเก็ดเงินรูปหยดน้ำตาเทียนนี้บ่อยครังมักจะเกิดขึ้นหลังจากคนไข้ติดเชื้อสเตร็ปโตคอคคัสแล้ว (เชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง มีหลายสายพันธุ์ อยากทราบข้อมูลเพิ่มเติมลองหาใน Google จ้า)

5. สะเก็ดเงินตามจุดพับ (Inverse psoriasis)

psoriasis_inverse

ลักษณะจะเป็นผิวหนังอักเสบที่เรียบ เป็นปื้น กินพื้นที่ค่อนข้างกว้าง เกิดตามจุดอับหรือข้อพับบนร่างกาย เช่น แขนพับ ขาพับ รักแร้ ในร่มผ้า ใต้ราวนม  พุง ซึ่งสะเก็ดงินจะถูกกระตุ้นจากเหงื่อ ความอับชื้นและการเสียดสีกันของผิวหนังบริเวณนั้น

6. สะเก็ดเงินที่เล็บ (Nail psoriasis)

nail-psoriasis

อาการสะเก็ดเงินที่เล็บเกิดได้ทั้งที่เล็บมือและเล็บเท้า มีได้หลายลักษณะ เช่น ใต้เล็บมีสีซีด เล็บเป็นหลุม มีเส้นบนเล็บ ผิวหนังใต้เล็บหนาขึ้น ส่งผลให้เล็บหลุดได้

7. โรคไข้ข้อที่เกิดจากสะเก็ดเงิน (Psoriatic arthritis)

Psoriatic_arthritis

เป็นอาการไขข้อและเนื้อเยื่อบริเวณไขข้อเกิดอาการอักเสบ ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นกับนิ้วมือหรือนิ้วเท้า ส่งผลให้นิ้วมือและนิ้วเท้าบวมจนมีรูปร่างเหมือนไส้กรอก นอกจากนี้ยังมีโอกาสเกิดขึ้นได้กับข้อต่อต่างๆตามร่างกาย เช่น สะโพก เข้า หรือแม้แต่กระดูกสันหลัง อาการคล้ายโรครูมาตอยด์แต่ไม่ใช่รูมาตอยด์ 10% – 15% ของผู้ป่วยสะเก็ดเงินจะมีอาการไขข้ออักเสบจากสะเก็ดเงินร่วมด้วย

8. สะเก็ดเงินที่เยื่อหุ้มลิ้น (Psoriasis of mucous membrane)

psoriasis mucous_membranes

แผลเปื่อยที่ลิ้นเชื่อว่าเป็นลักษณะของอาการสะเก็ดเงินอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นได้ เนื่องจากทางการแพทย์มีข้อมูลประวัติคนไข้สะเก็ดเงินที่มีอาการลักษณะนี้ร่วมด้วยอยู่จำนวนมาก แม้ว่าแผลเปื่อยที่ลิ้นเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้กับคนทั่วไป สะเก็ดเงินที่เยื่อหุ้มลิ้นเกิดขึ้นได้ประมาณ 1% – 2.5% ของประชากรทั้งหมด

ชอบกดไลค์ใช่กดแชร์ บอกต่อสิ่งดีดีกับเพื่อนของท่าน 🙂