“กินอาหารให้เป็นยา” หลายท่านคงเคยได้ยินประโยคนี้กันมาบ้างไม่มากก็น้อย แน่นอนว่าอาหารมีส่วนสำคัญต่อสุขภาพของคนเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะเราจะมีชีวิตอยู่ได้ต้องกินอาหารให้เพียงพอต่อการดำรงชีพ ศาสตร์ของการกินอาหารให้มีสุขภาพดีไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่ศึกษาค้นคว้าและสะสมความรู้กันมาเป็นร้อยปี จนกระทั่งมีการพัฒนาองค์ความรู้เรื่องนี้ในเชิงที่เป็นวิทยาศาสตร์มากยิ่งขึ้น กล่าวคือ มีการวิจัย ค้นคว้า ตั้งสมมุติฐาน ทดลอง และสรุปผลการทดลอง กลายเป็นองค์ความรู้ที่เชื่อถือได้และนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงปฏิบัติได้จริง
การกินอาหารกับสะเก็ดเงิน ?
เนื่องจากอาหารมีความสำคัญต่อภาวะสมดุลร่างกาย และภาวะสมดุลนั้นมีผลต่อสุขภาพ ผู้ที่มีสุขภาพดีย่อมมีความแข็งแรงทนทานในการต่อต้านโรคหรือระบบภูมิคุ้มกันที่ดี ส่วนผู้ที่สุขภาพไม่ดีย่อมไม่แข็งแรง ป่วยง่ายเพราะระบบภูมิคุ้มกันไม่ดี ถ้าเราทราบอย่างนี้แล้ว โรคสะเก็ดเงินที่ได้ชื่อว่าเป็นโรค”ภูมิเพี้ยน” ย่อมมีความเกียวพันกับระบบภูมิคุ้มกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กล่าวคือ ถ้าผู้ป่วยสะเก็ดเงินสามารถรักษาสมดุลของร่างกายได้ แน่นอนว่าร่างกายย่อมแข็งแรงและมีระบบภูมิคุ้มกันที่ดี แต่ในทางตรงกันข้ามถ้าผู้ป่วยสะเก็ดเงินไม่สามารถที่จะรักษาสมดุลของร่างกายได้ ย่อมหมายถึง การเพิ่มโอกาสให้สะเก็ดเงินแสดงอาการได้ ดังนั้น ผู้ป่วยสะเก็ดเงินจึงมีความจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้วิธีการรักษาสมดุลของร่างกายด้วยการกินอาหารให้ถูกชนิด ถูกสัดส่วนและหลีกเลี่ยงอาหารแสลงที่จะก่อให้เกิดอาการสะเก็ดเงินในภายหลังได้
ร่างกายสมดุลหรือไม่ทราบได้อย่างไร ?

การทำสมาธิสร้างสมดุลร่างกาย
การนิยามภาวะสมดุลของร่างกายแตกต่างกันไปตามการแพทย์แต่ละแขนง ขึ้นอยู่กับความรู้ที่ได้สืบทอดกันมา
- แพทย์แผนจีน สมดุลหยินหยาง
- แพทย์แผนไทย สมดุลธาตุทั้ง 4 ดินน้ำลมไฟ
- แพทย์แผนตะวันตก สมดุลกรดด่าง
ในความเข้าใจของผู้เขียน จากที่ได้ศึกษาข้อมูลมาคิดว่าเป็นเรื่องเดียวกัน เหมือนกันในสาระแตกต่างในวิธีการถ่ายทอด อันเนื่องจากความแตกต่างด้านวัฒนธรรม ภูมิศาสตร์และสังคม ก่อให้เกิดวิชาแพทย์หลายๆแขนงที่ต่างก็มีจุดเด่นจุดด้อยของตนเอง
ในที่นี้ผู้เขียนจะกล่าวถึงสมดุลของร่างกายโดยอ้างอิงจากสมดุลกรดด่าง เพราะมีข้อมูลในเชิงวิทยาศาสตร์ มีงานวิจัยค้นคว้าและเอกสารอ้างอิงที่หาได้ง่ายกว่า อีกทั้งยังสามารถแสดงตัวเลขให้ผู้อ่านได้เข้าใจได้ชัดเจนมากกว่าด้วย
เป็นเรื่องที่ยากที่เราจะวัดสมดุลกรดด่างของร่างกายได้โดยตรง แต่นักวิทยาศาสตร์ก็หาวิธีการวัดจนได้ ของเหลวในร่างกายคนเรามีค่าความเป็นกรดด่างแตกต่างกันไป
- เลือดมีค่าความเป็นกรดด่างโดยเฉลี่ย 7.34 - 7.43 (เป็นด่างเล็กน้อย)
- น้ำลายมีค่าความเป็นกรดด่างอยู่ในช่วง 5.5 - 7.5 หรือมากกว่า (เป็นกรดหรือเป็นด่างก็ได้)
- น้ำย่อยในกระเพาะอาหารมีค่าความเป็นกรดด่างได้ถึง 2.5 (กรดเข้มข้น)
- ปัสสาวะมีค่าความเป็นกรดด่างอยู่ในช่วง 5 - 8 (เป็นกรดหรือเป็นด่างก็ได้)
ค่าความเป็นกรดด่างจะวัดเป็นค่าที่เรียกว่า pH มีค่าตั้งแต่ 0 - 14 โดย
- ค่า pH = 7 ถือว่าเป็นกลาง
- ค่า pH > 7 ถือว่าเป็นด่าง ค่ายิ่งสูงเข้าใกล้ 14 ยิ่งเป็นด่างมาก
- ค่า pH < 7 ถือว่าเป็นกรด ค่ายิ่งน้อยเข้าใกล้ 0 ยิ่งเป็นกรดมาก
ในการตรวจร่างกายส่วนใหญ่ แพทย์จะวัดค่าต่างๆจากเลือด เช่น ความเป็นกรดด่าง ยูริค ค่าก๊าซชนิดต่างๆ และปริมาณกรดแลคติค เป็นต้น การตรวจเลือดเพื่อหาความสมดุลของร่างกายโดยการดูค่าต่างๆจากผลเลือดเป็นทางเลือกที่ดี แต่ถ้าหากต้องการตรวจสอบเป็นประจำก็ถือเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยุ่งยากทีเดียว เพราะต้องใช้กระบวนการตรวจสอบหลายอย่างและคงไม่มีใครอยากจะเจาะเลือดทุกวัน
ไตเป็นอวัยวะที่มีหน้าที่ในการรักษาสมดุลน้ำ สมดุลเกลือแร่และกรดด่างในร่างกาย โดยการขับของเสียหรือสารเคมีส่วนเกินออกทางมาทางปัสสาวะ นักวิทยาศาสตร์จึงให้ความสำคัญกับการตรวจสมดุลกรดด่างของร่างกายด้วยวิธีการตรวจจากปัสสาวะโดยตรง โดยค่าความเป็นกรดด่างของปัสสาวะจะแปรผันตามอาหารที่เรากินเข้าไป วิธีการนี้ถูกใช้มาเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปีในการตรวจเช็คสมดุลกรดด่างของร่างกายได้เป็นอย่างดี ดังนั้น เราจะทราบได้ว่าร่างกายของเรามีความสมดุลกรดด่างหรือไม่ ? ได้จากการตรวจค่าความเป็นกรดด่างของปัสสาวะนั่นเอง
วิธีการตรวจปัสสาวะและแปลผล

ชุดทดสอบความเป็นกรดด่างปัสสาวะ
สิ่งที่เราต้องเตรียมเพื่อการตรวจค่าความเป็นกรดด่างของปัสสาวะมีดังนี้
1. ปัสสาวะหลังตื่นนอนตอนเช้า
2. กระดาษทดสอบความเป็นกรดด่าง
3. กระดาษทิชชู่
หลังตื่นนอนตอนเช้าหากปวดปัสสาวะให้เก็บปัสสาวะลงในภาชนะที่เตรียมไว้จะเป็นแบบแก้วหรือพลาสติกก็ได้ จากนั้นให้ใช้กระดาษทดสอบความเป็นกรดด่างจุ่มลงในปัสสาวะแล้วยกขึ้นทันที จากนั้นให้นำกระดาษทดสอบซับกับทิชชู่เพื่อไม่ให้ปัสสาวะอยู่บนกระดาษทดสอบนานเกินไป เพราะอาจจะทำให้ผลการตรวจวัดผิดเพี้ยนไปได้ จากนั้นรอ 5 - 10 วินาทีแล้วค่อยอ่านผล โดยให้เราดูสีบนกระดาษทดสอบความเป็นกรดด่างเทียบกับแถบสีมาตราฐานของการวัดค่าความเป็นกรดด่างของตัววัดนั้น
หลังจากที่เราวัดค่าเสร็จแล้วเราจะได้ค่าความเป็นกรดด่างมาค่าหนึ่ง จากนั้นให้เรานำค่าที่ได้มาแปลผลเทียบกับข้อมูลที่ต่อไปนี้
ค่า pH อยู่ในช่วง 6.5 - 7.5 ถือว่าร่างกายมีความสมดุลกรดด่าง
ค่า pH น้อยกว่า 6.5 ถือว่าร่างกายมีความเป็นกรดอยู่
ค่า pH มากกว่า 7.5 ส่วนใหญ่เกิดจากการวัดที่คลาดเคลื่อน แต่ถ้าวัดหลายๆรอบแล้วเหมือนเดิมแสดงว่ามีความผิดปกติกับร่างกายแล้ว หาหมอด่วน
การตรวจสมดุลกรดด่างในร่างกายต้องทำอย่างต่อเนื่องเป็นประจำเป็นสัปดาห์หรือหลายสัปดาห์ ทุกครั้งที่เราวัดค่าได้แล้วให้เราจดบันทึกไว้ทุกๆครั้งหรือทุกๆวัน ถ้าเราทำต่อเนื่องจนครบ 1 สัปดาห์แล้วค่าที่ได้อยู่ในช่วง 6.5 - 7.5 ตลอดถือว่าการกินอาหารของเราและรูปแบบการใช้ชีวิตเป็นรูปแบบที่ดีให้พยายามรักษาไว้ให้ได้ ถ้าทำได้สุขภาพของเราดีแล้วอาการสะเก็ดเงินจะค่อยๆดีขึ้นตามไปด้วย
อาหารกรด อาหารด่างเป็นอย่างไร ?
เนื่องจากอาหารที่เรากินในแต่ละครั้งมีผลต่อสมดุลกรดด่างของร่างกาย เราจึงมีความจำเป็นต้องเรียนรู้และเข้าใจนิยามของคำว่า "อาหารกรด" และ"อาหารด่าง" เพื่อที่จะนำความรู้ตรงนี้ไปใช้ในชีวิตประจำวันในการเลือกซื้อเลือกกินอาหารให้ร่างกายมีความสมดุลกรดด่างได้ตามเป้าประสงค์
อาหารแต่ละชนิดมีค่าความเป็นกรดด่างไม่เท่ากัน ประเด็นคือ คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่า
อาหารกรดคือ อาหารที่ค่า pH < 7 ทานเข้าไปแล้วสร้างความเป็นกรดเพิ่มขึ้นให้กับร่างกาย อาหารด่างคือ อาหารที่ค่า pH > 7 ทานเข้าไปแล้วสร้างความเป็นด่างเพิ่มขึ้นให้กับร่างกาย
ซึ่งเป็นจริงสำหรับอาหารส่วนหนึ่งที่ค่า pH ของอาหารเป็นกรดทานเข้าไปแล้วความเป็นกรดของร่างกายจะมากขึ้นและค่า pH ของอาหารที่เป็นด่างทานเข้าไปแล้วความเป็นด่างของร่างกายจะมากขึ้น แต่ไม่ใช่สำหรับอาหารทุกชนิด เพราะอาหารต้องผ่านการย่อยและเผาผลาญและผ่านกระบวนการต่างๆในร่างกาย จนสุดท้ายผลที่ได้อาจจะเป็นกรดหรือเป็นด่างต่อร่างกายก็ได้ อธิบายเพิ่มเติมก็คือ เราจะดูว่าอาหารที่เราทานเข้าไปเป็นกรดหรือเป็นด่าง ต้องดูกันตอนสุดท้ายตอนที่ย่อยและเผาผลาญจนหมดแล้วถึงจะสรุปได้ชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น
น้ำเลมอน (มะนาว) ค่า pH คือ 2.4 < 7 ตามปกติถือว่ามีความเป็นกรด แต่ถ้าเราทานเข้าไปแล้วสุดท้ายฤทธิ์ที่ได้คือ เป็นด่าง ดังนั้น น้ำมะนาวเป็นอาหารด่าง
น้ำสับปะรด ค่า pH คือ 3.35 < 7 ตามปกติถือว่ามีความเป็นกรด แต่ถ้าเราทานเข้าไปแล้วสุดท้ายฤทธิ์ที่ได้คือ เป็นด่าง ดังนั้น น้ำสับปะรดเป็นอาหารด่าง
ดังนั้น การแบ่งแยกว่าอาหารชนิดไหนเป็นอาหารกรดและอาหารชนิดไหนนั้นเป็นอาหารด่าง จึงมีวิธีที่แตกต่างออกไปจากการวัดค่า pH ของอาหารโดยตรง และเราต้องดูที่ผลสุดท้ายว่ามีฤทธิ์เป็นกรดหรือด่างหลังจากผ่านกระบวนการต่างๆในร่างกายเรียบร้อยแล้ว
การแบ่งแยกว่าอาหารชนิดไหนเป็นอาหารกรดหรือเป็นอาหารด่าง เป็นเรื่องที่้ต้องศึกษาให้ลึกลงไปในรายละเอียดของอาหารชนิดนั้น ซึ่งการที่เราจะทานอาหารให้เกิดสมดุลกรดด่างในร่างกายก็ไม่จำเป็นเสมอไปที่เราจะต้องรู้มากก่อนถึงจะเริ่มปฏิบัติได้ นักวิทยาศาสตร์ (ผู้เขียนหมายถึง แพทย์ นักโภชนาการ นักเคมี นักฟิสิกส์และอื่นๆอีก) ได้ให้หลักในการตัดสินใจว่าอาหารชนิดไหนส่วนใหญ่เป็นอาหารกรด อาหารชนิดไหนส่วนใหญ่เป็นอาหารด่างดังนี้
- เนื้อสัตว์ ไขมัน แป้ง น้ำตาลส่วนใหญ่แล้วจะเป็นอาหารกรด
- ผักผลไม้ ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นอาหารด่าง
- เครื่องดื่มอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง เครื่องดื่มสำเร็จรูป เหล้าเบียร์ทุกชนิดเป็นอาหารกรด
หลักในการแบ่งแบบง่ายๆมีเท่านี้ แต่บอกไว้ก่อนว่าไม่ถูกต้องไปทั้งหมด ย้ำว่าส่วนใหญ่!!!
อย่างไรก็ตาม เป็นโชดดีของเราที่มีนักวิทยาศาสตร์และกูรูหลายๆท่านได้ศึกษาเรื่องนี้มาก่อนหน้าเราเป็นร้อยปีแล้ว ฐานข้อมูลเรื่องอาหารกรดและอาหารด่างจึงถูกรวบรวมไว้ค่อนข้างละเอียด ซึ่งเราสามารถนำหลักการที่แสดงไว้ข้างต้นไปปรับใช้ได้ทันที ผลแม่นยำ 80 - 90 เปอร์เซ็นต์ แม้ว่าอาหารในแต่ละประเทศจะมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง ตามสภาพภูมิอากาศและถิ่นกำเนิดของอาหารก็ตาม
หลักในการกินอาหารต้านสะเก็ดเงิน

แบ่งสัดส่วนอาหารให้สมดุล
ในยุคปัจจุบันที่คนส่วนใหญ่ใช้เวลาไปกับการเดินทางและการทำงานหลายชั่วโมงต่อวัน ทุกคนต้องเร่งรีบและมีเวลาน้อยมากในการดูแลเรื่องอาหารการกินของตนเอง ส่งผลให้รูปแบบการกินอาหารของคนสมัยนี้เปลี่ยนไปจากสมัยก่อนโดยสิ้นเชิง คนส่วนใหญ่มักจะเลือกกินอาหารง่ายๆ กินเร็วอิ่มเร็วอย่างจำพวกอาหารฟาสต์ฟู้ด เช่น พิซซ่า แฮมเบอร์เกอร์ ข้าวกล่อง ตามด้วยของหวานหรือาหารว่างจำพวกขนมชนิดต่างๆ เช่น เค้ก กาแฟ เป็นต้น การทานผักผลไม้สดในปริมาณที่เพียงพอเป็นเรื่องทีถูกมองข้ามไป โดยที่ผู้เขียนมีความเชื่อว่าคนส่วนใหญ่รู้อยู่เต็มอกว่า กินแบบไหนสุขภาพจะดีได้ ร่างกายสมดุล แต่ไม่ให้ความสำคัญมากนัก
สำหรับผู้ป่วยสะเก็ดเงิน การทานอาหารมีผลมากต่อการควบคุมอาการสะเก็ดเงิน เพราะเป็นโรคทีค่อนข้างอ่อนไหวถ้ากินอาหารไม่ได้สัดส่วน กินอาหารแสลงหรือกินอาหารบางประเภททำให้ร่างกายเสียสมดุลเป็นกรดมากไป ก็อาจส่งผลให้สะเก็ดเงินแสดงอาการขึ้นมาได้
มีหลักง่ายๆในการกินอาหารต้านสะเก็ดเงินเพียง 2 ข้อเท่านั้น
1. ทานให้อาหารให้ถูกประเภท ถูกสัดส่วน
ถ้าเราได้ทำความเข้าใจเรื่่องอาหารกรดและอาหารด่างไปแล้ว เราคงจะพอทราบเป็นแนวทางว่า โจทย์คือ ทานอย่างไรให้ค่า pH ของปัสสาวะอยู่ในช่วง 6.5 - 7.5 ซึ่งก็เป็นโชคดีของเราอีก ที่มีกูรูหลายท่านได้ศึกษาค้นคว้าและทดลองและสรุปเป็นสูตรในการทานอาหารสร้างสมดุลร่างกายที่เราสามารถนำไปใช้ได้ทันที
เราจะใช้หลักหรือกฎ 80/20 ในการกินอาหารสำหรับผู้ที่มีอาการสะเก็ดเงินและผู้ที่ภาวะร่างกายเสียสมดุล กล่าวคือ ในหนึ่งวันเราจะทานอาหารด่าง 80% และอาหารกรด 20% ถ้าทำได้ตามนี้ค่า pH ของปัสสาวะจะอยู่ในช่วง 6.5 - 7.5 ซึ่งหมายถึง ร่างกายมีสมดุลกรดด่างและมีสุขภาพดี ถ้าเรารักษาระดับได้อย่างต่อเนื่อง จะมีผลช่วยลดอาการสะเก็ดเงินได้มากจนถึงขนาดไม่มีอาการเลยก็ได้
- อาหารด่าง 80% แบ่งเป็นผักสีเขียว 60% และผลไม้ 20%
- อาหารกรด 20% แบ่งเป็นเนื้อสัตว์และไขมัน 10% และแป้ง 10%
ตามสูตรดังกล่าวอาจจะเป็นสูตรที่เข้มข้นมากเกินไปสำหรับคนร่างกายแข็งแรงดี ถ้าปกติเราเป็นคนแข็งแรงดีอยู่แล้วเราสามารถใช้สูตร 60/40 แทนได้
- อาหารด่าง 60% แบ่งเป็นผักสีเขียว 40% และผลไม้ 20%
- อาหารกรด 40% แบ่งเป็นเนื้อสัตว์และไขมัน 20% และแป้ง 20%
จะเห็นว่าสูตรในการกินอาหารเพื่อรักษาสมดุลกรดด่างไม่ได้ตายตัว เราสามารถเลือกใช้ตามความแข็งแรงของร่างกายได้ ถ้าเราเป็นมีอาการสะเก็ดเงินอยู่ควรใช้ 80/20 แต่ถ้ายังเป็นปกติแข็งแรงดีก็ใช้เป็น 60/40 ก็ได้
2. หลีกเลี่ยงอาหารก่อโรคสะเก็ดเงิน
อาหารที่ผู้ป่วยสะเก็ดเงินห้ามกินหรือพึงระวังมีดังต่อไปนี้
- ข้าวขัดสีหรือข้าวขาว แนะนำให้ทานเป็นข้าวไม่ขัดสี ข้าวกล้องแทน
- มันฝรั่ง
- เครื่องดื่มแอลกฮอล์ทุกชนิด
- น้ำอัดลม
- ของหมักดอง เช่น ปลาร้า ผลไม้ดอง ผักดอง
- อาหารรสหวานที่มีส่วนผสมของน้ำตาลมากๆ เช่น ลูกกวาด ช็อกโกแล็ต
- เนื้อสัตว์ทุกประเภทต้องทานในปริมาณที่เป็นไปตามสูตรทานมากไปไม่ได้ โดยเฉพาะเนื้อวัวและเนื้อไก่
- อาหารทะเลของสัตว์มีเปลือกแข็ง เช่น ปู กุ้ง หอย
- มะเขือทุกชนิด เช่น มะเขือเทศ มะเขือยาว มะเขือเปาะ
- พืชผักตระกูลแตง เช่น แตงกวา ฟัก บวบ แตงโม แตงไทย แตงร้าน
- อาหารที่ทำจากแป้งทำขนม เช่น เค้ก คุ้กกี้ ครัวซอง ขนมปัง
- อาหารที่ผสมสี สารกันเสีย สารกันบูด
- อาหารทอดน้ำมัน อาหารปิ้งย่าง รมควัน
- พริกไทย (พริกไทยดำกินได้)
- น้ำส้มสายชู (อยากเปรี้ยวให้ใช้มะนาวแทน)
เท่าที่รวบรวมมาได้มีประมาณนี้
สรุป
เราได้เรียนรู้การกินอาหารสำหรับสะเก็ดเงินไปแล้ว การดูแลสุขภาพด้วยอาหารสามารถนำไปปรับใช้ได้ในชีวิตประจำวันไม่ว่าเราจะเป็นผู้ป่วยสะเก็ดเงินหรือไม่ ? ถ้าเราป่วยเป็นสะเก็ดเงินก็จะช่วยให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงขึ้นรวมถึงอาการสะเก็ดเงินที่ลดน้อยลง แต่ถ้าเราแข็งแรงดีการดูสุขภาพด้วยวิธีนี้จะช่วยให้เรามีภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็งขึ้นไม่เจ็บป่วยง่าย การดูแลรักษาสะเก็ดเงินด้วยอาหารเป็นวิธีการทีต้องใช้เวลา (โดยเฉลี่ยประมาณ 3 เดือน) จะมากน้อยขึ้นกับพื้นฐานสุขภาพและวินัยในการเลือกทานอาหารให้ได้ตามสูตร และหลีกเลี่ยงอาหารต้องห้ามที่ทำให้มีอาการสะเก็ดเงิน อย่างน้อยที่สุด ถึงแม้ว่าอาการสะเก็ดเงินจะไม่หมดไปหรือหายไปซะทีเดียว แต่สิ่งที่เราจะได้ คือ สุขภาพโดยรวมที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน!
ชอบกดไลค์ใช่กดแชร์ แบ่งปันสิ่งดีดีให้กับเพื่อนของท่าน 🙂