
สะเก็ดเงินที่เล็บ
เล็บเป็นอวัยวะอีกแห่งหนึ่งที่พบสะเก็ดเงินได้บ่อย และดูแลรักษาได้ค่อนข้างยาก การดูแลสะเก็ดเงินที่เล็บก็เลยต้องมีวิธีการที่พิเศษ เพื่อลดผลข้างเคียงของอาการและให้คนไข้อยู่ได้อย่างปกติสุข
อาการสะเก็ดเงินที่เล็บ
สะเก็ดเงินที่เล็บเกิดได้ทั้งที่เล็บเท้าและเล็บมือ ถ้าเป็นไม่มากลักษณะจะคล้ายเล็บคนขาดวิตามินบี แต่ถ้าเริ่มเป็นมากๆจะมีรอยของโรคมากยิ่งขึ้น กล่าวคือ ผิวเล็บไม่เรียบเนียน เล็บเริ่มเป็นหลุม ใต้เล็บมีเนื้อเยื่อหนาดันเล็บให้หลุดออก สะเก็ดเงินที่เล็บเป็นแล้วหายช้ากว่าเป็นที่ผิวหนังส่วนอื่นๆบนร่างกาย อาจจะใช้เวลา 6 เดือนหรือเป็นปี ในการที่ร่างกายจะสร้างเล็บกลับมาให้เป็นปกติได้ อาการในลักษณะต่างๆของสะเก็ดเงินที่เล็บมีดังต่อไปนี้
- มีสีเหลืองแดงใต้เล็บคล้ายมีหยดเลือดหรือน้ำมัน (oil drop หรือ a salmon patch)
- มีรอยบุ๋มเล็กๆบนเล็บ (pitting of the nail matrix)
- มีเส้นพาดตัวบนเล็บ โดยปกติจะพาดจากด้านหนึ่งไปอีกด้านหนึ่ง (แนวนอน) มากกว่าด้านล่างขึ้นไปด้านบน (แนวตั้ง) (Beau lines of the nail)
- เกิดรอยสีขาวบนเล็บ (leukonychia หรือ midmatrix disease)
- ผิวหนังใต้เล็บหนาตัวขึ้น มักจะทำให้เล็บหลุดในภายหลัง (subungual hyperkeratosis)
- เล็บหลุด (onycholysis of the nail bed และ nail hyponychium)
- เล็บผุแตกฉีกขาดง่าย (nail plate crumbling)
- เกิดรอยดำเป็นเส้นแนวตั้งในเล็บ (splinter hemorrhage)
- เกิดรอยแดงสีซีดบริเวณโคนเล็บ (spotted lunula)
- เกิดโรคข้ออักเสบสะเก็ดเงินตามข้อนิ้ว (finger psoriatic arthritis)
วิธีการรักษา
วิธีการรักษาจะมีอยู่ 2 อย่างคือ แผนปัจจุบันกับแผนทางเลือก และในแต่ละวิธีก็จะแบ่งเป็นการรักษาจากภายนอกและรักษาจากภายใน ผู้เขียนขออธิบายวิธีรักษาแผนทางเลือกที่ทำได้ง่ายๆที่บ้านและแผนปัจจุบัน ในส่วนที่เป็นแผนอื่นๆนอกเหนือจากนี้ลองดูรายละเอียดที่วิธีรักษาสะเก็ดเงิน
1. แผนทางเลือก
การใช้อาหารบำบัด
หลักสำคัญที่จะช่วยให้ดีขึ้นได้อย่างถาวรยาวนาน คือ เรื่องการรักษาสมดุลกรดด่าง ดังนั้น การทานอาหารจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะช่วยให้สะเก็ดเงินที่เล็บดีขึ้นได้เร็วจากภายในสู่ภายนอก อย่างไรก็ตามวิธีการนี้ค่อนข้างใช้เวลานาน คนไข้ต้องมีความอดทนและมีวินัยในการเลือกทานอาหาร จึงจะประสบความสำเร็จแและหายจากสะเก็ดเงินได้ รายละเอียดเพิ่มเติมดู อาหารสะเก็ดเงิน
การใช้สมุนไพร
สมุนไพรที่ใช้รักษาสะเก็ดเงินต้องเป็นตำรับยา คือ มีส่วนผสมของสมุนไพรชนิดต่างๆเพื่อให้มีการเสริมฤทธิ์และหักล้างความเป็นผิดของสมุนไพรบางตัวออกไป จะเรียกว่าเป็นสูตรก็ได้ อย่างไรก็ตามสูตรสมุนไพรสะเก็ดเงินไม่ได้มีข้อมูลที่แน่ชัดนัก ผู้ที่ทราบมักจะเป็นแพทย์แผนไทยและแผนจีนที่มีประสบการณ์และเคยรักษาคนไข้สะเก็ดเงินมาก่อน ดังนั้น การใช้ยาจึงต้องปรึกษาแพทย์เหล่านี้เสียก่อน
2. แผนปัจจุบัน
วิธีการรักษาสะเก็ดเงินที่เล็บในแนวทางของแผนปัจจุบัน จะมีวิธีการคล้ายกับวิธีการรักษาสะเก็ดเงินบริเวณอื่น กล่าวคือยาตัวหลักที่ใช้จะเหมือนๆกันและมีรักษาสะเก็ดเงินแบบเป็นไม่มากด้วยการทายา ครีม ขี้ผึ้งและมีวิธีการรักษาที่เป็นระบบสำหรับอาการที่รุนแรง สรุปโดยรวมได้ดังนี้
สะเก็ดเงินแบบไม่รุนแรง
หากอาการสะเก็ดเงินที่เล็บมีอาการที่ไม่รุนแรง การรักษามักจะใช้เป็นยาทารักษาภายนอกและการฉายแสง แต่จะยังไม่มีการใช้ยารับประทาน
- การใช้ยาทาบริเวณเล็บที่เป็นสะเก็ดเงิน ได้แก่ Salicylic Acid, Calcipotriene, Topical steroids
- การฉีดสเตอรอยด์เข้าที่เล็บ อาจได้ผลสำหรับคนไข้สะเก็ดเงินที่เล็บแต่มักมีอาการเจ็บปวดหลังฉีด
- การฉายแสง (Phototherapy) ใช้ร่วมกับการรักษาแบบอื่นแต่ได้ผลสำหรับสะเก็ดเงินที่เล็บบางอาการเท่านั้น
สะเก็ดเงินแบบรุนแรง
หากมีอาการสะเก็ดเงินที่เล็บแบบรุนแรง และวิธีการดังกล่าวข้างต้นไม่สามารถควบคุมอาการได้ จะมีการให้ยารับประทานเพิ่มเติม ยาแต่ละตัวมีคุณสมบัติลดการอักเสบและระงับยับยั้งให้สะเก็ดเงินที่เล็บน้อยลง เช่น
- methotrexate
- iclosporin
- acitretin
- infliximab
- etanercept
- efalizumab
- ustekinumab
- adalimumab
ยาพวกนี้มีผลข้างเคียงมาก แพทย์จะเป็นผู้ตัดสินใจในการให้ยาเหล่านี้และการใช้ยาต้องอยู่ภายการแนะนำและดูแลจากแพทย์เท่านั้น!
เคล็ดลับการดูแลสะเก็ดเงินที่เล็บ
1. พยายามตัดเล็บให้สั้นเสมอ
2. รักษาสมดุลกรดด่างด้วยการทานอาหารสำหรับสะเก็ดเงิน
3. ทานอาหารเสริมกรดไขมันโอเมก้า 3 จากปลาทะเลตามปริมาณที่ฉลากระบุไว้
4. แช่มือในน้ำอุ่นครั้งละ 15 - 20 นาที ทำทุกวัน
5. เช็ดมือและเท้าให้แห้งอย่างนุ่มนวล เสร็จแล้วให้ใช้น้ำมันทาทีละเล็บ น้ำมันที่นิยมใช้กัน เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันมะพร้าว น้ำมันนกอีมู ที่หาง่ายที่สุดในประเทศไทยน่าจะเป็นน้ำมันมะกอกและน้ำมันมะพร้าว ให้เลือกแบบที่ไม่มีส่วนผสมของน้ำหอมและใช้วิธีแบบสกัดเย็นก็ได้
6. นำถุงเท้ามาสวมมือหรือเท้า (ไม่ได้เขียนผิดให้ใช้ถุงเท้าที่ทำจากใยฝ้าย) ก่อนเข้านอน ตื่นเช้ามาค่อยถอดออกเพื่อรักษาความชุ่มชื่น สำหรับประเทศไทยที่เป็นเมืองร้อนอาจจำเป็นต้องทำในช่วงหน้าหนาวเท่านั้น ทำสัปดาห์ละ 3-4 วัน
ชอบกดไลค์ใช่กดแชร์ แบ่งปันสิ่งดีดีให้กับเพื่อนของท่าน 🙂